ขอให้เพลิดเพลินกับนานาสาระนะค่ะ ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมชมค่ะ

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย

 

การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย

Education Reform in Thailand

 

อัญญรัตน์ นาเมือง  ศษ.ม. ( Anyarat  Namuang,M.Ed. )

 

ความนำ

 

          ขณะนี้ในบ้านเมืองของเรา   มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูประบบต่างๆ   กันอย่างกว้างขวาง ในส่วนวงการการศึกษาคงหนีไม่พ้น  เรื่องการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้เพราะคนในสังคมเริ่มตระหนักถึงปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา  และพยายามหาแนวทางแก้ไข  ปรับปรุงให้การศึกษามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

            อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษามาแล้วถึง 3 ครั้ง  โดยเริ่มตั้งแต่  สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5  ได้ทรงปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งสร้างความทันสมัยและธำรงความเป็นเอกราชของชาติ  ส่วน ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2520 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นการมุ่งสร้างการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม และในครั้งที่  3  เมื่อ  พ.ศ. 2542  มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช 2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่ 2)  2545  เป็นการมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้  ในกระแสโลกาภิวัตน์   ควบคู่ไปกับการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  และสำหรับในครั้งนี้นับว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่  4 ในปีพ.ศ. 2552 โดยมุ่งเน้น  การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต  ทั้งในระบบ  นอกระบบและตามอัธยาศัย อย่างมีคุณภาพ   และเท่าเทียมกัน   ในทุกระดับ/ประเภทการศึกษา

1.  สาเหตุสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา

           จากคำกล่าวที่ว่า  “ การศึกษาสร้างคน   คนสร้างชาติ ”    ชี้ชัดให้เห็นว่าการศึกษานั้น   มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ  ประเทศใดมีประชาชนที่ความรู้สูง   ย่อมส่งผลให้ประเทศนั้น  มีความเจริญตามไปด้วย  ในส่วนของประเทศไทยนั้น   จากรายงานสถานการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย ประจำปี 2550 พบว่าในภาพรวมการศึกษาของประชาชนยังมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร  จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา  ซึ่งพอจะสรุปสาเหตุสำคัญของการปฏิรูปได้  ดังนี้

 

         1.1   สถานะของประเทศไทยในสังคมโลก  ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลาง  มีรายได้ถัวเฉลี่ยต่อหัวของประชากรค่อนข้างต่ำ  คุณภาพของประชาชนยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆ  มาตรฐานความเป็นอยู่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ  การที่เศรษฐกิจสังคมโลกมีการแข่งขันเพื่อตัวใครตัวมันมากขึ้นมีความไม่สมดุลมากขึ้นและการเติบโตทางการผลิตการค้าชะลอตัว  ทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจโลก  ฟื้นตัวได้ยาก  จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา  เพื่อเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาดังกล่าว

 

          1.2  สภาวะและปัญหาของของการศึกษาไทย  รัฐยังให้ความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัยน้อยเกินไปทั้งๆที่เด็กวัยนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุด  สมองกำลังพัฒนาสูง  เรียนรู้ได้ไว  หากพลาดโอกาสนี้จะเกิดผลลบทั้งชีวิต  ในระดับประถม – มัธยม  ยังให้บริการไม่ทั่วถึงในแง่ปริมาณและคุณภาพในส่วนของครูอาจารย์   ปัญหาส่วนใหญ่คือ  การขาดแรงจูงใจและขาดความรู้ความสามารถ  และที่สำคัญรัฐบาลขาดงบประมาณในการบริหารการศึกษา

 

            1.3   ความล้าหลังของการดำเนินงาน

                  1.3.1  ในด้านตัวครู  เช่น  ขาดแรงจูงใจ  ขาดความสามารถ  เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ

                  1.3.2   ในด้านงบประมาณ   มีสำหรับดำเนินการน้อย

                  1.3.3   ในด้านสื่อและเทคโนโลยี   ยังมีน้อยและไม่ทันสมัย

 

           1.4   กระบวนการเรียนรู้   ครูยังขาดทักษะ   ในกระบวนการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้  ครูยังใช้วิธีสอนแบบเดิมไม่พัฒนา

 

           1.5  การบริหารจัดการ   ผู้บริหารยังไม่มีความสามารถพอ   ในการบริหารงานในโรงเรียน

 

           1.6  การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ  สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป  การศึกษาย่อมต้องพัฒนาให้สอดคล้องกันไปด้วย   ตลอดจนระบบเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตการศึกษา   ก็ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน

 

            จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาไม่อาจนิ่งดูดายได้  และร่วมมือกันหาแนวทางปฏิรูปการศึกษา  ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น  การปฏิรูปที่ผ่านมามีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว   เนื่องจากขอบข่าย   และภารกิจในการปฏิรูปค่อนข้างกว้าง  และมากมายเกินไป ทำให้นโยบายในบ้างเรื่องยังไม่สามารถทำให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ ในส่วนตัวผู้เขียนเป็นครูสอน พบปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปที่ผ่านมา  ส่งผลกระทบโดยตรงในด้านการปฏิรูปหลักสูตร   และกระบวนการจัดการเรียนการสอน   มีทั้งข้อดีละข้อเสียสรุปได้   ดังนี้

 

ข้อดีของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  ดังนี้

 

            1.  สามารถจัดหลักสูตรได้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้และเนื้อหา  คำอธิบายรายวิชามีความชัดเจน   และมีประโยชน์ต่อผู้เรียน

 

           2.  เน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพที่แท้จริง  สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

 

           3.  ผู้เรียนได้ฝึกการอ่าน  คิดวิเคราะห์  และเขียนสื่อความมากขึ้น  สามารถคิดเชิงระบบได้

 

          4.  ผู้เรียนต้องมีคุณธรรม  จริยธรรม  มากขึ้น  และต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์

 

           5.  ผู้เรียนมีความรัก  หวงแหนทรัพยากรของท้องถิ่น  และเห็นคุณค่าของท้องถิ่น  ที่ตนได้อยู่อาศัย  สามารถประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกได้รับรู้

 

          6.  นำความรู้ที่ได้รับ  จากการฝึกปฏิบัติจริง  ในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ และเทคโนโลยี   ไปใช้ในการดำรงชีวิต  และประกอบอาชีพได้

          7.  สามารถนำไปใช้กับการศึกษาในระบบ  นอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัย  รวมทั้งการจัดการศึกษา  ทุกกลุ่ม  เช่น  การศึกษาพิเศษ   การศึกษา   สำหรับผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทาง

 

         8.  ครูผู้สอนมีความพยายามในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม  เพื่อมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น

 

          9.  ผู้บริหารนำคณะครูไปศึกษาดูงานมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำหลักสูตร  และด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน   และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับต่างโรงเรียน

 

         10.  การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง  ซึ่งเป็นการให้โอกาสแก่ผู้เรียน  ได้มีกำลังใจในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

 

          11. การให้ความสำคัญกับบุคคล ในชุมชนในการจัดทำหลักสูตร และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในการศึกษาของสถานศึกษา

 

ข้อเสียของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  มีหลายประการ   ดังนี้

1.  ด้านการจัดทำหลักสูตร  พบว่า

 

            1.1  โรงเรียนไม่ได้คิดเอง  แต่ไปเลียนแบบจากโรงเรียนนำร่อง  โรงเรียนเครือข่ายและตัวอย่างของโรงเรียนที่ไปศึกษาดูงาน

 

            1.2   จัดทำเสร็จแล้วก็ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าถูกต้อง  และได้มาตรฐานหรือไม่

 

           1.3  การได้รับการถ่ายทอดความรู้ในด้านการจัดทำหลักสูตร  จากวิทยากรไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน   เนื่องจากในทีมของวิทยากรแต่ละท่าน  ก็อธิบายไม่เป็นในแนวปฏิบัติเดียวกัน

 

          1.4   ปัจจุบันหลักสูตรที่ทำเสร็จแล้ว  ครูผู้สอนไม่ได้นำมาใช้  หรือ  ดูผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  แต่เน้นที่การใช้หนังสือเรียนจากสำนักพิมพ์ต่างๆมากกว่า

 

           1.5   ความล่าช้าของการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  ส่งผลให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในภาคเรียนแรก   ของแต่ละโรงเรียนล่าช้าตามไปด้วย

 

2.  ด้านบุคลากรทางการศึกษา  พบว่า

 

            2.1  ครูผู้สอนไม่มีความรู้  ความเข้าใจในเรื่องของการจัดทำหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

 

           2.2   ครูผู้สอนมีภาระงานเพิ่มขึ้น  และมีความกังวลมากกับการจัดทำหลักสูตร  จนไม่เวลาเตรียมการสอนของตนเอง

 

           2.3  ครูผู้สอนขาดทักษะ  ในการจัดทำสื่อ  และเอกสารประกอบการเรียนการสอน ที่มีคุณภาพ

 

           2.4   ครูผู้สอนบางคนต้องจัดทำหลักสูตรโดยที่ไม่ตรงกับวิชาเอกและวิชาที่ถนัด

 

3.  ด้านการจัดเวลาเรียน  พบว่า

 

            3.1  การจัดเวลาเรียน  จำนวนชั่วโมงการเรียนรู้รายปีของวิชาเรียน  แต่ละโรงเรียนเน้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีปัญหาในการรับเด็กย้ายเข้าจากโรงเรียนอื่น  หรือแม้แต่การที่เด็กจะต้องสอบคัดเลือกเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยจึงทำได้ยาก

 

4.  ด้านงบประมาณ   พบว่า

 

           4.1  การจัดทำหลักสูตรแต่ละครั้งต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ  ในด้านการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้  การนำคณะครูไปศึกษาดูงาน  และการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำ

 

5.  ด้านการจัดการเรียนการสอน

           5.1    ครูขาดความเข้าใจในการกำหนดหน่วยการเรียนรู้  และการจัดทำแผนการเรียนรู้

 

           5.2 ครูขาดความเข้าใจ  ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  การจัดกิจกรรมที่หลากหลายในการเรียน

 

          5.3  ครูขาดเอกสารในการค้นคว้า  และจัดทำเอกสารทางวิชาการ  และเอกสารประกอบการสอน

 

           5.4  ครูมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง   ดังนี้

 

                    5.4.1  ในกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ครูมักจะปล่อยให้ผู้เรียนเรียนรู้กันเองโดยที่ครูไม่ต้องมีบทบาทอะไร   ให้ผู้เรียนบอกจดตามครู  หรือบางครั้งให้จดตามในกระดาน

 

                   5.4.2.  ครูใช้วิธีสั่งให้ผู้เรียนไปห้องสมุด  อ่านหนังสือกันเอง  แล้วเขียนรายงานส่งครูโดยที่ขาดการติดตามผล

 

                   5.4.3.  ในการจัดการเรียนการสอน ครูมักจะจัดกิจกรรมให้ผู้เรียน  เมื่อผู้เรียนอยากเรียนเท่านั้น  ถ้าผู้เรียนยังไม่อยากเรียนก็ปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ตามที่ชอบใจ

 

                   5.4.4.  ครูได้สำรวจความต้องการของผู้เรียน  แต่ไม่ได้นำผลมาจัดลำดับ   ตามความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง

 

                  5.4.5.  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเมื่อต้องมีการเข้ากลุ่มผู้เรียนจะคุยกัน  และไม่ได้ปฏิบัติงานตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย  เนื่องจากครูผู้สอนไม่ได้อธิบายบทบาทหน้าที่ของผู้เรียน   และการปฏิบัติงานกลุ่มที่ถูกต้อง  และไม่คอยควบคุมดูแลความเรียบร้อยภายในชั้น

 

                5.4.6.  การให้ผู้เรียนสอนกันเอง หรือทำงานกันเอง  หรือให้ผู้เรียนเล่นเกม  หรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย   โดยปราศจากเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้  หรือปล่อยให้ทำกิจกรรมตามลำพังโดยปราศจากการดูแลของครูผู้สอน

 

               5.4.7  การที่ครูมอบหมายให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้จากคอมพิวเตอร์    ไม่สามารถทำให้เสร็จสิ้นภายในวิชาที่สอนผู้เรียนต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติมที่บ้านหรือบางคนต้องไปที่ร้านคอมพิวเตอร์   ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการค้นคว้าหาข้อมูล  หรือทำงานส่งค่อนข้างมาก

 

               5.4.8.  ผู้เรียนต้องทำโครงงานหลายวิชา   การตกแต่งชิ้นงาน   การทำ Portfolio   ในแต่ละวิชา  และการทำรายงานส่งมักจะต้องใช้คอมพิวเตอร์  เป็นงานที่มากมาย   ถ้าผู้เรียนมีความรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายสามารถทำเสร็จและส่งตามเวลา ส่วนนักเรียนที่ไม่มีวุฒิภาวะพร้อมและไม่มีความรับผิดชอบ   ไม่สามารถทำส่งได้ตามกำหนดถูกอาจะครูผู้สอนตำหนิ  ผู้เรียนจึงเกิดความเบื่อหน่าย

 

6.  ด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน

 

           6.1  ครูต้องจัดทำเอกสารการสอนโดยที่ขาดคู่มือ  การค้นคว้า  ดังนั้นเอกสารการสอนจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

          6.2  การจัดทำสื่อประกอบการเรียนการสอนล่าช้า  เพราะเนื่องจากต้องศึกษาเนื้อหา  การสอนก่อนจัดทำ

 

            6.3  ขาดอุปกรณ์การสอนที่ทันสมัย  และการนำคอมพิวเตอร์มาใช้   ในการช่วยสอนไม่เพียงพอเนื่องจากหลักสูตรใหม่  เน้นในด้านการใช้เทคโนโลยี และการค้นหาข้อมูล จากอินเทอร์เน็ต แต่ในขณะที่หลายโรงเรียนไม่มีความพร้อม  ในด้านเทคโนโลยี

 

             6.4   โรงเรียนซื้อแบบเรียน  และแบบฝึกหัด  จากสำนักพิมพ์ซึ่งบางสำนักพิมพ์  กระทรวงไม่รับรอง   แต่โรงเรียนได้ให้ผู้เรียนซื้อ  และต้องซื้อเล่มที่กระทรวงรับรองอีก   จึงทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองมากขึ้น

 

7.  ด้านการวัดแลประเมินผล

 

           7.1  โรงเรียนยังไม่เข้าใจวิธีการวัดและประเมินผลถูกต้อง  จึงมีแนวทางการวัดและประเมินผล   ที่ไม่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

 

             7.2 การตั้งเกณฑ์การให้คะแนนแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน  ครูผู้สอนบางโรงเรียนไม่ยุติธรรมให้คะแนนเด็กมากเกินไป  จึงทำให้มีความเสื่อมล้ำในการนำคะแนนไปใช้การสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

 

              7.3  ความยากง่ายของการวัดผลแต่ละสถานศึกษา  ทำให้ไม่สามารถนำคะแนนเด็กไปใช้ตัดสินได้ว่า  เก่ง  ปานกลาง  อ่อน  อย่างแท้จริง

 

            7.4  ครูผู้สอนไม่มีความรู้ความเข้าใจการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง บางโรงเรียนเด็กตกมากขึ้น

 

           จากปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น  พบว่าไม่ได้ถูกละเลยเมื่อรัฐบาลชุดนี้มีแนวนโยบายในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2  ถ้าเราลองนึกย้อนกลับไปเมื่อ10 ปีที่แล้วก็จะทราบว่าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรก  เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล  คุณชวน  หลีกภัย  เป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่งได้กำหนดกรอบและภารกิจในการปฏิรูปการศึกษาไว้ 4 แนวทาง ซึ่งมีการปฏิรูปโรงเรียนและสถานศึกษา  การปฏิรูปครูและบุคลากร  การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน  และการปฏิรูประบบการบริหารการศึกษา ที่ผ่านมาได้ปฏิรูปในทุกแนวทางและที่เห็นเด่นชัดในหลายเรื่องเช่น  การปรับโครงสร้างหน่วยงาน  การกระจายอำนาจทางการศึกษา การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544  และการเพิ่มเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา  การปฏิรูปในครั้งนั้นไม่ได้ล้มเหลว เพียงแต่กำหนดกรอบและภารกิจต่างๆ  ไว้กว้างและบ้างอย่างยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน  นับว่าเป็นโชคดีของวงการการศึกษา ที่รัฐบาลชุดนี้ได้นำเอาภารกิจต่างๆ ที่ยังไม่สำเร็จในครั้งนั้นมาปฏิบัติและปรับปรุงข้อบกพร่องของการปฏิรูปที่ผ่านให้ดียิ่งขึ้น

 

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2

 

        หัวใจสำคัญที่ต้องปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญที่สุดคือ  คุณภาพและโอกาส  

 

               ด้านโอกาสมีนโยบายที่สนับสนุน  ดังนี้

นโยบายเรียนฟรี  15  ปี  (ตั้งแต่อนุบาล 1 – ม.6)

           ชุดนักเรียน/ค่าเทอม / หนังสือ / อุปกรณ์การเรียน / ค่าใช้จ่าย   นอกสถานที่การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียน  ฟรี  และ  มีเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

 

ด้านคุณภาพมีนโยบายที่สนับสนุน  ดังนี้

 

           1.  รัฐจัดตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

           2.  เรื่องของขวัญและกำลังใจครู  จัดตั้งกองทุนพัฒนาชีวิตครู

 

           3.  โครงการคืนครูให้นักเรียน

 

           4.  จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา,  สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

 

           5.  ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม  จริยธรรม  ของครอบครัว , ศาสนา , ชุมชน  และองค์กรเอกชน  ส่วนราชการ  และโดยเฉพาะภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบ และตามอัธยาศัย

 

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 เน้นประเด็นหลัก 3 ประการ

 

            1. คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย  โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน  สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้  สภาพแวดล้อม  หลักสูตรและเนื้อหา  พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณภาพ  มีคุณค่า  สามารถดึงดูดคนเก่ง ดีและมีใจรักมาเป็นครู คณาจารย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

             2.  เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ  เพื่อให้ประชาชนทุกเพศ ทุกคน  ทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ตลอดชีวิต

 

            3.  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม  ในการบริหารและจัดการศึกษา  โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษา

 

       จากการที่รัฐบาลกำหนดกรอบภารกิจให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละหน่วยให้มีความชัดเจนมากขึ้น  ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  รับผิดชอบ  5  ประเด็นหลัก  ดังนี้

 

1.  เรื่องครู

           1.1  การจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนคิด  วิเคราะห์มากขึ้น

           1.2  การอบรมและพัฒนาครู  (มีความรู้ หลักสูตร / กระบวนการจัดการเรียนการสอน)

           1.3  การประเมินและติดตามครูรายคน  ทั้งก่อนและหลังอบรม  เน้นการนผลมาใช้

 

2.  เรื่องหลักสูตร

          2.1 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (พ.ศ. 2551) มุ่งเน้นสมรรถนะ  5  ด้าน

     ส่วนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ยังขาด  คือความเป็นประชาธิปไตย  และปลอดยาเสพติด / คุณธรรมนักเรียน  และเนื้อหาสาระหลักสูตรมากเกินไป

 

3.  การปรับตารางสอน - ให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น  สัมผัสชีวิตนอกห้องเรียน

 

4. กระบวนการเรียนการสอน - จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง Back Word Design

 

5. ระบบแนะแนว  ควรมีประสิทธิภาพ

 

วิเคราะห์ความแตกต่างของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 1 และ  2

 

การปฏิรูปทศวรรษที่1 (2542 – 2552)

การปฏิรูปในทศวรรษที่ 2 (2552 – 2561)

   1. รัฐธรรมนูญ ปี 40 กำหนดให้มีกฎหมายทางการศึกษา จึงเกิดเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

  

  2. มีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ    โดยนำโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติมารวมกับกรมสามัญศึกษา

 

   3. มีการวางระบบประกันคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ โดยจัดตั้ง สมศ. ในการประเมิน

 

 

  4.  เปลี่ยนแปลงหลักสูตร   จากหลักสูตร 2533 เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544

  5. เปลี่ยนแปลงระบบ Entrance มาเป็นระบบ Admission โดยใช้คะแนนเฉลี่ย + ONET / ANAT ต่อมาเปลี่ยนเป็นGAT และ PAT

 

  6. เปลี่ยนแปลงระบบการพัฒนาวิทยฐานะ ใบประกอบวิชาชีพครู / ผู้บริหาร และการเข้าแท่งเงินเดือน

  1. มีการใช้พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม 2545 ตามเดิม

 

    

  2. ปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยแยกระดับโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษา  ออกจากกันมีการประเมินคุณภาพจาก  สมศ. ในรอบ

 

  3. ไม่เน้นการประเมินจากเอกสาร แต่จะดู ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสอนของครู

 

  4. การใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551

 

  5. เปลี่ยนระบบการ Entrance เข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งซึ่งยังไม่สรุปผล

 

 

 

6. ปรับเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ โดยเน้นการ ประเมินเชิงประจักษ์ มากกว่าประเมินเอกสาร

 

  7. พัฒนาห้องสมุด 3 D

D1 หนังสือดี D2 บรรยากาศดี D3 บรรณารักษ์ดี

 

  8. จัดให้มีโรงเรียน 3 D

D1 โรงเรียนดีใกล้บ้าน  (ระดับจังหวัด)

D2  โรงเรียนดีใกล้บ้าน  (ระดับอำเภอ)

D3  โรงเรียนดีใกล้บ้าน  (ระดับตำบล)

 

  9. นโยบาย 3 D โดยให้ทุกสถาบันเน้น

Democracy คือ  การส่งเสริมประชาธิปไตย

Decency  คือ  ให้นักเรียนมีสมบัติผู้ดี

Drug – free  คือ  ให้โรงเรียนปลอดยาเสพติด

 

  10. พัฒนาครูทั้งระบบ โดยจัดให้มีครูเกรด A / B / C

 

ความแตกต่างของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ 2544 และ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551

หลักสูตรพุทธศักราช 2544

หลักสูตรพุทธศักราช 2551

  1. ด้านจุดมุ่งหมาย

  -  มี 9 ข้อ

 

 

  2. ด้านเนื้อหา / มาตรฐาน

  -  แบ่งเป็นช่วงชั้น มาตรฐานมีความซ้ำซ้อน ความยากง่ายไม่เหมาะสมกับระดับชั้น และกว้างเกินไป ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

  3. ด้านการจัดการเรียนการสอน

  -  เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

  -  ครูเป็นผู้ชี้แนะ

 

 

 

  -  การใช้แหล่งเรียนรู้ใน นอกสถานที่

 

 

  -   การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

   -   ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

 

 

   -   เน้นการอ่าน  คิด  วิเคราะห์

เขียนสื่อความ

 

 

 

 

 

 

 

  4. การวัดและประเมินผล

  -  การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง ใช้แฟ้มพัฒนางาน ประเมินตามศักยภาพผู้เรียน

  1. ด้านจุดมุ่งหมาย

  -  มี 5 ข้อ เพิ่ม สมรรถนะผู้เรียน , คุณลักษณะอันพึงประสงค์

 

  2. ด้านเนื้อหา / มาตรฐาน

  - แบ่งเป็นระดับชั้น มีมาตรฐานในแต่ละชั้นชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน

 

 

  3. ด้านการจัดการเรียนการสอน

  -  เน้นการเรียนการสอนโดยผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

  - การออกแบบแผนการเรียนรู้ โดยใช้แนวทาง Back word Design เน้นความเข้าใจที่ฝังแน่น / ชัดเจน

 

  - ครูคอยจัดกิจกรรมกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์

 

  - จัดกิจกรรมโดยตอบสนองคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ข้อ หรือมากกว่านี้

 

  -  จัดห้องสมุด 3 D ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ให้มีคุณภาพและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

 

  -  จัดให้มีรายการ Tutor Channel เปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนกับครูที่มีชื่อเสียง

 

  - เชิญวิทยากรภายนอกในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการสอน เช่น พระ / ปราชญ์ชาวบ้าน / ผู้ที่ประสบผลสำเร็จในวิชาชีพ

 

  -  ครูเป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

 

  4. การวัดและประเมินผล

  - ประเมินผลตามสภาพจริง ใช้แฟ้มพัฒนางาน ประเมินศักยภาพผู้เรียน

 

          จากการวิเคราะห์ความแตกต่างของการปฏิรูปการศึกษา  และความแตกต่างของหลักสูตรการศึกษาในภาพรวม  คงพอจะทำให้มองภาพของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา  และการปฏิรูปกำลังดำเนินต่อไป เพื่อให้วงการการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง นักวิชาการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาทุกฝ่าย ร่วมกำหนดภารกิจที่เป็นรูปธรรม ทำให้ครูผู้สอนมีทิศทางและความกระจ่างมากขึ้น ในด้านการนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และพวกเราในฐานะครูผู้สอน เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการศึกษา และคงต้องอาศัยกำลังเสริมคือ ความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี

 

 

 

บรรณานุกรม

 

กระทรวงศึกษาธิการ. (2540 ). แนวทางการปฏิรูปโรงเรียนและสถานศึกษาตามแนว       นโยบายการปฏิรูปการศึกษา . กรุงเทพฯ :คุรุสภา

 

กระทรวงศึกษาธิการ.(2551).นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว

 

กระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ( เอกสารประกอบการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ชี้แจงการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา สำหรับโรงเรียนต้นแบบ และโรงเรียนที่มีความพร้อมใช้หลักสูตรฯ สังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น )รุ่นที่ 2 วันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2552 โดยสำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ

 

กระทรวงศึกษาธิการ.(2551).ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(พ.ศ.2552 – 2561 ). กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิก

 

 

รายงานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 2 / 2552 วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2552 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

วิทยากร เชียงกูล. (2545) .ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร. วารสารมิตรครู ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ปักษ์แรก กุมภาพันธ์ หน้า 16 – 18

 

อัญญรัตน์ ไตรศิลป์วิศรุต ( 2546 ) ปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาในโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนเครือข่าย ในจังหวัดฉะเชิงเทรา วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาหลักสูตรและการสอนสาขาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2546

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น