การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย
Education Reform in Thailand
อัญญรัตน์ นาเมือง ศษ.ม. ( Anyarat Namuang,M.Ed. )
ความนำ
ขณะนี้ในบ้านเมืองของเรา มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูประบบต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง ในส่วนวงการการศึกษาคงหนีไม่พ้น เรื่องการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้เพราะคนในสังคมเริ่มตระหนักถึงปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา และพยายามหาแนวทางแก้ไข ปรับปรุงให้การศึกษามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษามาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งสร้างความทันสมัยและธำรงความเป็นเอกราชของชาติ ส่วน ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2520 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นการมุ่งสร้างการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม และในครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2542 มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 เป็นการมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ในกระแสโลกาภิวัตน์ ควบคู่ไปกับการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสำหรับในครั้งนี้นับว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 4 ในปีพ.ศ. 2552 โดยมุ่งเน้น การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย อย่างมีคุณภาพ และเท่าเทียมกัน ในทุกระดับ/ประเภทการศึกษา